Growth Mindset สำคัญอย่างไรต่อการพัฒนาองค์กร ?
มีหลายตำรากล่าวไว้ว่า "Growth Mindset" คือสิ่งจำเป็นขององค์กรในยุคนี้ หากที่ไหนมีบุคลากร หรือพนักงานที่เต็มไปด้วย Growth Mindset องค์กรนั้นจะสามารถพัฒนาไปได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Growth Mindset คืออะไร ?
Growth Mindset มาจากงานวิจัยของ มาจากการวิจัยของ ดร. แครอล เอส. ดเว็ค (Carol S. Dweck) ศาสตราจารย์ด้านจิตวิทยาจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ด ผู้เขียนหนังสือ Mindset : The New Psychology of Success ซึ่งจากการวิจัย สามารถสรุปผลออกมาได้ว่า
มนุษย์เรามีกรอบความคิดอยู่ 2 ประเภท
1.กรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) คือ รูปแบบความคิด หรือทัศนคติที่พร้อมพัฒนา และเปิดรับสิ่งใหม่ ๆ อยู่เสมอ เปรียบเสมือน "แก้วน้ำ" ที่ไม่เต็มแก้ว
2.กรอบความคิดแบบจำกัด (Fixed Mindset) คือรูปแบบความคิดที่จำกัดความสามารถตัวเองเท่าที่มี และเชื่อว่าไม่สามารถพัฒนาไปได้มากกว่านี้ เหมือนคนที่มี "พรสวรรค์" แต่ไม่มี "พรแสวง" นั่นเอง
คนที่มี Growth Mindset จะมีความเชื่อว่ามนุษย์เราสามารถพัฒนาได้เรื่อย ๆ ผ่านการเรียนรู้ ประสบการณ์ และความพยายาม เรียกให้เข้าใจง่าย ก็เหมือนคนที่มี "พรแสวง" ยิ่งไปกว่านั้นเมื่อกระทำการใด จะไม่สนใจเรื่องของผลลัพธ์ ว่าจะออกมาสำเร็จ หรือล้มเหลว พวกเขาสามารถมองหาข้อดี หรือเรียนรู้จากข้อผิดพลาดได้เสมอ จะสังเกตได้ว่า คนที่มีกรอบความคิดแบบเติบโต (Growth Mindset) นั้น เมื่อถึงจุดที่พวกเขา "ล้ม" พวกเขาจะสามารถ "ลุก" ขึ้นมาได้ไว
แล้วเราจะสามารถสร้าง Growth Mindset อย่างไร ?
หลักการ 4 ข้อ ง่าย ๆ สำหรับคนที่ต้องการสร้าง Growth Mindset ให้กับตัวเอง หรือแม้กระทั่ง ฝ่ายบุคคล (HR) ที่ต้องการให้พนักงานมี Growth Mindset คือ เราต้องนำพาตัวเอง หรือพวกเขาออกจากกรอบเดิม ๆ 4 ข้อดังนี้
พื้นที่ที่คุ้นเคย (Comfort Zone)
ความเชื่อที่เป็นข้อจำกัด (Limiting Belief)
การยึดติดกับกรอบความคิดเดิม (Fixed Mindset)
ทัศนคติเชิงลบ (Negative Thinking)
การนำ Growth Mindset มาใช้ในองค์กร
ผู้ที่ทำให้กระแส Growth Mindset เริ่มเป็นที่รู้จักในวงกว้างมากขึ้น มาจากการที่ Satya Nadella นำหลักการ Growth Mindset มาใช้หลังจากที่เขาได้รับตำแหน่ง CEO คนใหม่ของ Microsoft ซึ่งสิ่งแรกที่เขาคิดจะทำคือ "การปรับเปลี่ยนวัฒนธรรมองค์กร" และแน่นอน Growth Mindset ได้ถูกหยิบขึ้นมาใช้เป็นหัวใจหลักของการเปลี่ยนแปลงครั้งนี้
Satya กล่าวไว้ว่า "ไอเดีย ความคิดสร้างสรรค์ทุกอย่างสามารถเป็นไปได้เสมอ หากองค์กรมีวัฒนธรรมที่ รับฟัง เรียนรู้ และให้โอกาส และสิ่งเหล่านี้คือหน้าที่ของ CEO"
จะเห็นได้ว่า บางครั้งหากต้องการเปลี่ยนแปลงวัฒนธรรมองค์กร จะต้องเริ่มจากผู้บริหาร หัวหน้างาน หรือฝ่ายบุคคล (HR) เป็นผู้ปลูกฝัง Growth Mindset ให้พนักงาน ให้พวกเขาพร้อมรับมือกับงาน หรืออุปสรรคที่ท้าทาย รู้จักเรียนรู้จากข้อผิดพลาด พร้อมเรียนรู้สิ่งใหม่ ๆ และพัฒนาศักยภาพอยู่เสมอ เพราะ Growth Mindset ไม่ได้หมายความเฉพาะกรอบความคิดของตนเองเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ตัวเราเองก็ไม่ควรที่จะไปตีกรอบความคิดของใคร เช่นว่า "เขาทำได้แค่นี้นะ" หรือ "เขาไม่เหมาะสมกับงานชิ้นนี้หรอก"
การสร้าง Growth Mindset ให้พนักงาน
เมื่อองค์กรมีพนักงานที่มี Growth Mindset ที่ดี ก็สามารถนำพามาสู่บรรยากาศที่ดีในการทำงาน และเมื่อทุกคนมีความสุขกับงาน เพื่อนร่วมงาน สภาพแวดล้อมต่าง ๆ แล้ว งานก็จะออกมามีประสิทธิภาพสูงสุด
จากผลการวิจัยของ Carol S. Dweck บอกว่าลักษณะของพนักงานที่มี "Growth Mindset" ที่ดีจะมีลักษณะ :
47% มีแนวโน้มที่จะบอกว่าเพื่อนร่วมงานของเขาน่าเชื่อถือ
34% มีแนวโน้มที่จะรู้สึกถึงความภักดี และมุ่งมั่นจะทำเพื่อองค์กร
65% มีแนวโน้มที่จะบอกว่าบริษัทสนับสนุนการรับความเสี่ยง
49% มีแนวโน้มที่จะบอกว่าบริษัทส่งเสริมการพัฒนา
ดังนั้นสำหรับ HR หรือหัวหน้าทีม หากคุณต้องการสร้างให้พนักงานของคุณมี Growth Mindset อย่างเต็มเปี่ยม ลองเริ่มจากการรับฟังความคิดเห็นของพนักงาน, เปิดพื้นที่ให้พนักงานได้มีโอกาสเสนอไอเดียใหม่ ๆ, ให้สวัสดิการเป็นเงินสำหรับเรียนเสริมความรู้พัฒนาตนเอง, จัดอบรม หรือเทรนนิ่งต่าง ๆ
หากพนักงานเห็นว่าเราให้การสนับสนุนอย่างเต็มที่ ก็จะเกิดความรัก ผูกพันองค์กร และตอบแทนด้วยการทำงานอย่างมีประสิทธิภาพค่ะ
หากองค์กรใดกำลังมองหาพนักงานที่มี Growth Mindset ดี ๆ แบบนี้ ปรึกษาแมนพาวเวอร์ได้เลยนะคะ เพราะเรา - แมนพาวเวอร์กรุ๊ป - เก่งในเรื่องหาคน ถนัดหางานค่ะ🙂
Source :Forbes , Harvard Business Review , thegrowthmaster