โครงสร้างของประวัติการทำงาน หรือ เรซูเม่
องค์ประกอบสำคัญอย่างหนึ่งของการสมัครงานคือ ประวัติการทำงาน หรือ เรซูเม่ (resume̒) หรือ CV อันเป็นตัวแทนของผู้สมัคร ด่านแรก ที่จะนำเสนอตัวเองให้กับสถานประกอบการ พิจารณาเลือกเข้าสัมภาษณ์ก่อนเจอตัวจริงของผู้สมัครงาน ประวัติการทำงาน หรือ เรซูเม่นั้น ต้องเรียบเรียงเป็นขั้นตอนตามลำดับความสำคัญที่ต้องการนำเสนอ เอาใจเราเข้าไปเป็นผู้ประกอบการว่า ถ้าเราจะคัดประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่ นั้นเราจะมองจากอะไรบ้างเป็นสำคัญ ซึ่งจะขอเรียงลำดับให้ทราบดังนี้
• Personal Information – ข้อมูลส่วนตัว ประกอบไปด้วย ชื่อ-นามสกุล,วันเดือนปีเกิด,อายุ,ส่วนสูง,น้ำหนัก,ที่อยู่,เบอร์โทร หรืออีเมล์,เงินเดือนปัจจุบัน,เงินเดือนที่ต้องการ,วันสามารถเริ่มงานได้ ส่วนเรื่องของสัญชาตินั้น ไม่จำเป็นต้องใส่ ถ้าเราสมัครงานในประเทศไทย สถานประกอบการทราบอยู่แล้วว่าผู้สมัครเป็นคนไทย
• Educational Background – ประวัติการศึกษา ประกอบด้วย ปีการศึกษา,ชื่อสถาบัน,วุฒิการศึกษา,วิชาเอก,เกรดเฉลี่ยรวม โดยเริ่มเขียนจากประวัติการศึกษาล่าสุด ไล่ลงไปเรื่อยๆ จนถึงระดับมัธยม หรือประถมศึกษา
• Career Objective – จุดประสงค์ในสายอาชีพ ในส่วนนี้จะเขียนลงในประวัติ หรือไม่ก็ได้ เพราะถ้าเขียนดี ตรงกับตำแหน่งงานที่เราสมัคร และถูกใจผู้คัดประวัติ ก็จะทำให้น่าสนใจ แต่ถ้าเขียนไม่ตรงประเด็น ก็อาจจะกลายเป็นดาบสองคม ประวัติของผู้สมัครอาจจะถูกนำเข้าเครื่องทำลายเอกสารทันที ส่วนการจะเขียนให้ถูกใจนั้น ผู้สมัครต้องทราบว่าตำแหน่งที่จะสมัครคืออะไร บริษัทฯ ที่เราสมัครงานผลิตอะไร เขียนในเชิงที่จะสามารถนำประสบการณ์ การศึกษาความรู้มาใช้พัฒนาองค์กร และพร้อมที่จะเติบโตไปกับองค์กร ซึ่งตามความเป็นจริงก็คือเขียนเอาใจสถานประกอบการณ์ให้ได้รับการคัดเลือกประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่นั่นเอง
• Executive Summary หรือ Experience Summary – สรุปประสบการณ์ที่โดดเด่น ในส่วนนี้สำคัญมาก อาจจะถือว่าเป็นจุดชี้ชะตาว่าประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่ จะได้รับการคัดเลือกเข้าสัมภาษณ์หรือไม่ ผู้สมัครควรสรุปความสามารถ ประสบการณ์ที่เด่นๆ ให้ตรงกับตำแหน่งงานที่สมัคร ว่าเรามีความสามารถอะไรบ้างที่ผ่านมา และทำความสำเร็จที่เกี่ยวข้องอะไรบ้าง ความสามารถพิเศษ ทักษะทางภาษาที่สอง หรือ ทักษะทางด้านคอมพิวเตอร์ ก็สามารถนำมาใส่ในส่วนนี้ ซึ่งทุกอย่างต้องเป็นความจริง และสามารถพิสูจน์ได้เท่านั้น เพราะผู้สมัครบางท่านใส่ข้อมูลไม่ถูกต้อง เกินความจริง ก็จะทำให้เกิดการเสียเวลา เสียความรู้สึก ผิดหวังเมื่อถูกเรียกสัมภาษณ์แล้วไม่เป็นความจริง หรือตรงกับข้อมูลที่เขียนไป ทำไมส่วนนี้ถึงสำคัญมาก เพราะผู้คัดเลือกประวัติ หรือแม้แต่ผู้สัมภาษณ์ จะได้ประหยัดเวลา ในการที่จะอ่านทุกตัวอักษร หรืออ่านข้อมูลทั้งหมด เพื่อความสะดวกและรวดเร็วในการพิจารณาประวัติการทำงาน ที่ส่งเข้าในปริมาณมาก มักจะอ่านหรือพิจารณาจากส่วนนี้
• Career Experience หรือ Work History – ประวัติการทำงาน ส่วนนี้ก็เป็นจุดหนึ่งที่สามารถดึงดูดผู้คัดใบสมัคร ว่าประสบการณ์การทำงานที่ผ่านมาตรงกับความต้องการของสถานประกอบการณ์หรือไม่ หลายท่านเขียนแบบสั้นมาก ใส่เพียง ปีการทำงาน สถานประกอบการ ตำแหน่งงาน เท่านั้น ซึ่งรายละเอียดไม่เพียงพอในการพิจารณา ขอแนะนำว่าให้ใส่โดยละเอียดดังนี้ ระยะเวลาการทำงาน (Period), ชื่อสถานประกอบการ (Company), ที่อยู่ของสถานประกอบการ (Location), ประเภทธุรกิจ (Business), ตำแหน่งงาน (Position), ความรับผิดชอบ (Responsibilities) ตรงนี้ควรใส่ให้ละเอียดที่สุด สามารถคัดลอกมาจากรายละเอียดงาน (Job Description) ที่ได้รับจากฝ่ายสรรพยากรมนุษย์ ตอนที่มาร่วมทำงาน หรืออาศัยข้อมูลจากประกาศรับสมัครงานที่เคยสมัครเข้ามาทำงาน ถ้าไม่มีจริงๆ ก็ต้องเขียนขึ้นมาเองตามความเป็นจริง พยายามแยกออกมาเป็นข้อๆ โดยมีหมายเลข หรือจุดนำหัวข้อ หรือประโยค ไม่ควรเขียนรวมกันเป็นย่อหน้ายาวๆ
• Training & Extra Skills – ประวัติการอบรม และทักษะพิเศษ ส่วนนี้เป็นส่วนเสริมให้สถานประกอบการทราบว่า นอกจากประวัติการทำงานที่ผ่านมาแล้ว ผู้สมัครมีประวัติการอบรม หรือทักษะพิเศษอะไรบ้างที่จะนำมาช่วยเสริมการทำงานให้ประสบความสำเร็จมากขึ้น อันยังเป็นการแสดงให้สถานประกอบการได้เห็นว่าผู้สมัครงานมีความใฝ่รู้ ต้องการพัฒนาความรู้ความสามารถของตนเองมากน้อยแค่ไหน
• Reference –บุคคลอ้างอิง ในส่วนนี้จะใส่ไปด้วยหรือไม่ก็ได้ ถ้าใส่ไปต้องเป็นบุคคลที่สามารถพูดถึง หรืออ้างอิงถึงประวัติการทำงานที่ผ่านมาของผู้สมัครได้ และควรพูดออกมาในแง่บวก รวมทั้งควรเป็นบุคคลที่มีประสบการณ์ที่ดีในการทำงานกับผู้สมัครงาน ที่ได้รับการแจ้งและขออนุญาตในการนำมาเป็นบุคคลอ้างอิงแล้ว ส่วนใหญ่จะแนะนำให้ใส่คำว่า –บุคคลอ้างอิงสามารถนำเสนอให้ได้เมื่อมีการร้องขอ (References up on requested) ทั้งนี้เพื่อป้องกันสถานประกอบการ ที่คัดเลือกประวัติของผู้สมัคร ใช้วิธีการอื่นติดต่อไปสอบถามข้อมูล ก่อนการเรียกมาสัมภาษณ์ โดยที่ผู้สมัครงานและบุคคลอ้างอิงยังไม่ได้รับทราบ และเตรียมความพร้อมกัน อันอาจจะเป็นข้อลบของการให้รายละเอียดบุคคลอ้างอิงไว้ในประวัติการทำงาน หรือเรซูเม่
• Photo - รูปถ่ายประกอบประวัติการทำงาน-ควรเป็นรูปปัจจุบัน และเป็นความจริง เพราะเป็นการแสดงให้เห็นความซื่อสัตย์ ความเป็นมืออาชีพ ในด่านแรกของการสมัคร รูปควรอยู่ในสภาพเรียบร้อย หน้าตรง ขนาดพอดี พื้นสีหลัง ที่เหมาะสม แสดงให้เห็นความตั้งใจในการสมัครงาน อย่าใช้รูปรับปริญญา หรือใส่ชุดนักศึกษา (ถ้าไม่ใช่ผู้สมัครจบใหม่) เนื่องจากทำให้มองเห็นว่าคุณไม่ใส่ใจในรายละเอียด เล็กๆ น้อยๆ ทำงานมานานแล้ว รูปสมัครงานยังใช้รูปรับปริญญา หรือรูปเก่า สะท้อนให้เห็นตัวตนของผู้สมัครได้ในหลายแง่มุม ซึ่งส่วนใหญ่จะเป็นด้านลบ
หากประวัติการทำงาน หรือ เรซูเม่ ของคุณเรียบเรียงและมีองค์ประกอบครบดังที่กล่าวมาทั้งหมดนั้น บวกกับการเขียนที่ชัดเจน กระชับไม่เยิ่นเย้อ เพียงเท่านี้ ประวัติการทำงาน หรือ เรซูเม่ ของคุณก็จะโดดเด่น และเพิ่มโอกาสที่สถานประกอบการจะเรียกคุณเข้ารับการสัมภาษณ์งานอย่างแน่นอน
สมัครงาน, บริษัทจัดหางาน, Recruitment, Recruitment Agency, โครงสร้างของประวัติการทำงาน หรือ เรซูเม่