มนุษย์เงินเดือนต้องรู้! คำนวนภาษียังไง อะไรลดหย่อนได้บ้าง?
ช่วงใกล้สิ้นปีแบบนี้ นอกจากจะวางแผนไปเที่ยวแล้ว ก็มีเทศกาลลดหย่อนภาษีนี่แหละค่ะ ที่ถือเป็น To do list ของเหล่ามนุษย์เงินเดือนอย่างเรา เพื่อที่จะนำไปยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในช่วงต้นปีนั่นเอง
สำหรับใครที่ยังไม่ค่อยเข้าใจเรื่องของการเสียภาษี เงินเดือนเท่านี้ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ วันนี้แมนพาวเวอร์มัดรวมข้อมูลการจ่ายภาษีฉบับง๊ายง่าย แม้แต่ First Jobber ก็เข้าใจได้ไม่ยาก รวมถึงทริคลดหย่อนภาษีสำหรับมนุษย์เงินเดือนมาให้แล้วค่ะ!
ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาคืออะไร?
อ้างอิงจากกรมสรรพากรภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา คือ ภาษีที่จัดเก็บจากบุคคลธรรมดาทั่วไป หรือจากหน่วยภาษีที่มี ลักษณะพิเศษ ตามที่กฎหมายกําหนดและมีรายได้เกิดขึ้นตามเกณฑ์ที่กําหนด ซึ่งโดยปกติจะจัดเก็บเป็นรายปี รายได้ที่ได้รับในปีใด ๆ ผู้มีรายได้มีหน้าที่ต้องนำไปแสดงรายการตนเอง ตามแบบแสดงรายการภาษีที่กำหนด ภายในเดือนมกราคม ถึงมีนาคมของปีถัดไป
ใครมีหน้าที่ต้องยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาบ้าง?
ผู้ที่มีเงินได้เกิดขึ้นระหว่างปีภาษีจะมีหน้าที่ต้องยื่นแบบฯ ก็ต่อเมื่อมีเงินได้ถึงเกณฑ์ขั้นต่ำตามที่กฎหมายกำหนด ไม่ว่าเมื่อคำนวณภาษีแล้วจะมีภาษีต้องชำระเพิ่มเติมหรือไม่ก็ตาม ดังนี้
เกณฑ์เงินได้พึงประเมินขั้นต่ำที่ผู้มีเงินได้ต้องยื่นแบบแสดงรายการภาษี
(1) บุคคลธรรมดาและผู้ถึงแก่ความตาย มีเงินได้พึงประเมิน ดังนี้
ประเภทเงินได้ | โสด | สมรส |
เงินเดือนเพียงอย่างเดียว | 120,000 | 220,000 |
เงินได้ประเภทอื่น | 60,000 | 120,000 |
(2) ห้างหุ้นส่วนสามัญที่มิใช่นิติบุคคล หรือคณะบุคคลที่ไม่ใช่นิติบุคคล มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
(3) กองมรดกที่ยังไม่ได้แบ่ง มีเงินได้พึงประเมินเกิน 60,000 บาท
บุคคลธรรมดาต้องยื่นแบบภาษีเมื่อไร?
สำหรับมนุษย์เงินเดือนที่มีเงินได้ ปกติการยื่นแบบแสดงรายการ จะยื่นปีละ 1 ครั้ง (ยื่นแบบฯ ภายในวันที่ 31 มีนาคม ของปีถัดไป)
วิธีการคิดคำนวณภาษี ทำอย่างไร?
สำหรับการคำนวณภาษีที่เราต้องจ่ายนั้นมีหลักง่าย ๆ ไม่ยุ่งยาก ในที่นี้เราจะพูดถึงเฉพาะการยื่นแบบ ภงด.91 สำหรับผู้มีเงินได้จากการแจ้งแรงงาน หรือพูดให้เข้าใจง่ายก็คือ ผู้ที่มีรายได้ทางเดียว ซึ่งจะมีขั้นตอนการคำนวนภาษีแบบขั้นบันได ดังนี้
ขั้นตอนที่ 1
เงินได้ - ค่าใช้จ่าย - ค่าลดหย่อน = เงินได้สุทธิ
ขั้นตอนที่ 2
เงินได้สุทธิ x อัตราภาษี = เงินภาษีที่ต้องจ่าย
ตัวอย่าง
สมมติว่าคุณมีเงินเดือน เดือนละ 26,583.33 บาท x 12 เดือน (ต้องคิดทั้งปี) = 319,000 บาท
สามารถหักค่าใช้จ่ายได้ 100,000 บาท* + หักค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท + หักเงินสะสมกองทุนประกันสังคมรวมทั้งปี 9,000 บาท
ค่าใช้จ่ายได้ 50% (แต่ไม่เกิน 100,000 บาท)
จะได้สูตรคำนวนเงินได้สุทธิ ดังนี้
เงินได้ 319,000 บาท – ค่าใช้จ่าย 100,000 บาท – ค่าลดหย่อนส่วนตัว 60,000 บาท – เงินกองทุนประกันสังคม 9,000 บาท = เงินได้สุทธิ 150,000 บาท
จากนั้นเราก็ไปดูว่ารายได้สุทธิของเราอยู่ในเกณฑ์ที่ต้องเสียภาษีเท่าไหร่ (ในตาราง)
อัตราภาษีเงินได้ แบบขั้นบันได
เงินได้สุทธิ 0 – 150,000 บาท (อัตราภาษี 0% หรือได้รับการยกเว้นภาษี)
ค่าภาษี = 0
เงินได้สุทธิ 150,001 – 300,000 บาท (อัตราภาษี 5%)
ค่าภาษี = (เงินได้สุทธิ – 150,000) x 5%
เงินได้สุทธิ 300,001 – 500,000 บาท (อัตราภาษี 10%)
ค่าภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 300,000) x 10% ] + 7,500
เงินได้สุทธิ 500,001 – 750,000 บาท (อัตราภาษี 15%)
ค่าภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 500,000) x 15% ] + 27,500
เงินได้สุทธิ 750,001 – 1,000,000 (อัตราภาษี 20%)
ค่าภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 750,000) x 20% ] + 65,000
เงินได้สุทธิ 1,000,001 – 2,000,000 บาท (อัตราภาษี 25%)
ค่าภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 1,000,000) x 25% ] + 115,000
เงินได้สุทธิ 2,000,001 – 5,000,000 บาท (อัตราภาษี 30%)
ค่าภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 2,000,000) x 30% ] + 365,000
เงินได้สุทธิมากกว่า 5 ล้านบาท (อัตราภาษี 35%)
ค่าภาษี = [ (เงินได้สุทธิ – 5,000,000) x 35% ] + 1,265,000
ดังนั้น บุคคลที่มีเงินได้สุทธิไม่เกิน 150,000 บาท (หรือมีเงินเดือน เดือนละไม่เกิน 26,583.33 บาท) ต้องยื่นภาษี แต่ไม่ต้องเสียภาษี
การลดหย่อนภาษีคืออะไร และมีวิธีการอย่างไร?
ค่าลดหย่อน คือสิทธิประโยชน์ทางภาษีอย่างหนึ่งที่ช่วยทำให้เสียภาษีน้อยลงเมื่อ คำนวณภาษี หรืออาจช่วยให้ได้เงินคืนภาษีเพิ่มขึ้น หากเรามีการวางแผนภาษีล่วงหน้า ลองคำนวณว่าในปีนี้เราจะเสียภาษีประมาณเท่าไหร่ และมีอะไรที่ลดหย่อนภาษีได้บ้าง
ซึ่งวิธีลดหย่อนภาษีสามารถทำได้หลายรูปแบบ ไม่ว่าจะเป็นการลงทุนในกองทุนรวม การซื้อประกันชีวิตและประกันสุขภาพ การซื้ออสังหาริมทรัพย์ หรือแม้กระทั่งการจับจ่ายใช้สอยต่างๆ ในชีวิตประจำวันก็สามารถนำมาลดหย่อนภาษีได้ด้วยเช่นกัน
ขั้นตอนที่สำคัญที่สุด! ขั้นตอนการยื่นภาษี
การยื่นภาษี สามารถยื่นได้ทั้งแบบออนไลน์ และออฟไลน์ดังนี้
1. สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขา
สําหรับการยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 ผู้มีเงินได้สามารถยื่นแบบฯ ณ สํานักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง
2. ที่ทําการไปรษณีย์สําหรับการยื่นแบบฯ ระหว่างวันที่ 1 มกราคม ถึงวันที่ 31 มีนาคม เท่านั้น มีหลักเกณฑ์ ดังนี้
2.1 ผู้มีเงินได้มีภูมิลําเนาอยู่ในกรุงเทพมหานคร
2.2 ยื่นแบบฯ ภ.ง.ด.90 หรือ ภ.ง.ด.91 โดยส่งทางไปรษณีย์ลงทะเบียน พร้อมแนบเช็ค (ประเภท ข. ค. หรือ ง.) หรือ ธนาณัติ (ตามจํานวนเงินภาษีที่ต้องชําระทั้งจํานวน) โดยส่งไปยัง
กองบริหารการคลังและรายได้
กรมสรรพากร อาคารกรมสรรพากร
เลขที่ 90 ซอยพหลโยธิน 7 ถนนพหลโยธิน
เขตพญาไท กรุงเทพฯ 10400
2.3 กรมสรรพากรจะถือเอาวันที่ลงทะเบียนไปรษณีย์เป็นวันรับแบบและชําระภาษีและจะส่งใบเสร็จรับเงินให้แก่ผู้ยื่นแบบฯ ทางไปรษณีย์ลงทะเบียน
3. เข้าเว็บไซต์ของกรมสรรพากร https://efiling.rd.go.th/และเลือก “ยื่นแบบออนไลน์”
การวางแผนภาษีที่ดีและใส่ใจรายละเอียดเล็ก ๆ น้อยๆ จะทำให้เราประหยัดภาษีได้อย่างมาก ไม่ว่าจะรายได้ ค่าใช้จ่ายหรือเงินออมเงินลงทุนใด ๆ และสำหรับการยื่นภาษีเงินได้บุคคลธรรมดาในปี 2567 นั้น สามารถยื่นภาษีแบบเอกสารหรือกระดาษ ณ สำนักงานสรรพากรพื้นที่สาขาทุกแห่ง ภายในวันที่ 31 มี.ค. 2567 หรือจะยื่นภาษีออนไลน์ ผ่านเว็บไซต์ของกรมสรรพากร www.rd.go.th ก็ได้เช่นกัน ซึ่งจะขยายเวลาไปจนถึงวันที่ 8 เม.ย. 2567
อ้างอิงแหล่งที่มา: กรมสรรพากร, iTAX, TTB BANK