ประมาณ 1 เดือน ที่ผ่านมา -

Probation คืออะไร ? ทุกเรื่องที่ HR และพนักงานต้องรู้

พนักงานและฝ่ายบุคคลกำลังสนทนากันเรื่องการทดลองงาน (Probation)

ช่วงเวลาทดลองงาน (Probation) คือระยะเวลาสำคัญที่ทั้งบริษัทและพนักงานจะได้เรียนรู้และประเมินความเหมาะสมซึ่งกันและกัน เพื่อให้มั่นใจว่าทั้งสองฝ่ายจะสามารถทำงานร่วมกันได้ในระยะยาว อย่างไรก็ตาม หลายคนอาจยังไม่เข้าใจถึงขั้นตอนนี้อย่างถ่องแท้ ดังนั้น เราจึงจะพามาเจาะลึกถึงสิ่งที่ฝ่ายบุคคลและพนักงานควรต้องรู้ เพื่อให้ผ่านช่วงการทดลองงานไปได้อย่างราบรื่น

ช่วงเวลาทดลองงาน (Probation) คืออะไร ?

Probation Period หรือที่เรารู้จักกันดีในชื่อ "การทดลองงาน" คือช่วงเวลาที่ทั้งบริษัทและพนักงานใหม่จะได้มีโอกาสทำความรู้จักและประเมินซึ่งกันและกัน โดยบริษัทจะทำการประเมินความสามารถ ทักษะ และทัศนคติของพนักงานใหม่ ในขณะที่พนักงานเองก็จะได้เรียนรู้ว่าลักษณะงาน วัฒนธรรมองค์กร และสภาพแวดล้อมการทำงานนั้นตรงกับที่คาดหวังไว้หรือไม่ ก่อนที่ทั้งสองฝ่ายจะตัดสินใจว่าเหมาะสมที่จะร่วมงานกันในระยะยาว

ทำไมต้องมี Probation ?

  • ประเมินทักษะและความสามารถจริง : ถึงแม้พนักงานจะผ่านการสัมภาษณ์มาแล้ว แต่การทำงานจริงนั้นมักแตกต่างจากทางทฤษฎี ดังนั้น ช่วงทดลองงานจึงเป็นโอกาสทองที่นายจ้างจะได้เห็นทักษะและความสามารถในสภาพแวดล้อมการทำงานจริงของพนักงานใหม่

  • ดูความเข้ากันกับวัฒนธรรมองค์กร : เพราะวัฒนธรรมองค์กรส่งผลโดยตรงต่อประสิทธิภาพและความสุขในการทำงาน ช่วงทดลองงานจึงช่วยให้เห็นได้ชัดว่า พนักงานสามารถทำงานเป็นทีมและสื่อสารกับเพื่อนร่วมงานได้ดีแค่ไหน

  • ลดความเสี่ยงการจ้างงาน : เมื่อนายจ้างได้ประเมินพนักงานอย่างรอบด้านก่อนตัดสินใจจ้างระยะยาว จะช่วยประหยัดในด้านทรัพยากรต่าง ๆ และป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคตได้

  • เปิดโอกาสให้เรียนรู้และปรับตัว : ในช่วงนี้ พนักงานจะได้เรียนรู้ทั้งระบบงาน วัฒนธรรม และวิธีการทำงานต่าง ๆ พร้อมกับมีเวลาค่อย ๆ ปรับตัวให้เข้ากับองค์กรได้อย่างเป็นธรรมชาติ

  • สร้างความชัดเจนในการทำงาน : ทั้งสองฝ่ายจะได้สื่อสารถึงความคาดหวังและเป้าหมายร่วมกัน โดยพนักงานจะได้รับ Feedback อย่างสม่ำเสมอเพื่อพัฒนาตนเอง ซึ่งจะช่วยให้การทำงานร่วมกันมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้นในระยะยาว

ผ่านโปรฯ (Probation Period) ใช้เวลากี่เดือน ?

โดยทั่วไป Probation Period หรือระยะเวลาผ่านโปรฯ คือประมาณ 3-6 เดือน อย่างไรก็ตาม ระยะเวลาอาจแตกต่างกันไปตามปัจจัยต่าง ๆ เช่น​

  • ตำแหน่งงาน : สำหรับตำแหน่งที่ต้องการความรับผิดชอบสูงหรือเฉพาะทางมาก ๆ เช่น ผู้บริหารระดับสูง หรือผู้เชี่ยวชาญเฉพาะด้าน มักจะใช้ระยะเวลาทดลองงานที่นานขึ้น เพื่อให้มั่นใจในศักยภาพและความเหมาะสมอย่างแท้จริง

  • ขนาดขององค์กร : องค์กรขนาดใหญ่ที่มีโครงสร้างซับซ้อนและมีขั้นตอนการทำงานที่หลากหลาย มักต้องใช้เวลามากขึ้นในการประเมินผล เพราะต้องดูทั้งเรื่องการปรับตัวเข้ากับระบบและการทำงานร่วมกับหลายฝ่าย

  • นโยบายของบริษัท : แต่ละองค์กรจะมีนโยบายเฉพาะเกี่ยวกับระยะเวลาทดลองงานที่แตกต่างกัน โดยขึ้นอยู่กับวัฒนธรรมองค์กร เป้าหมาย และกลยุทธ์การบริหารทรัพยากรบุคคลของแต่ละที่​

กฎหมายเกี่ยวกับการทดลองงาน

การทดลองงานนั้นไม่ใช่แค่เรื่องของการประเมินผลงาน แต่ยังมีประเด็นทางกฎหมายที่ทั้งนายจ้างและลูกจ้างควรทำความเข้าใจให้ชัดเจนด้วย เพื่อปกป้องสิทธิของทั้งสองฝ่ายและป้องกันปัญหาที่อาจเกิดขึ้นในอนาคต มาดูกันว่ามีประเด็นสำคัญอะไรบ้าง

  • การระบุเงื่อนไขในสัญญาจ้าง
    นายจ้างต้องระบุเงื่อนไขการทดลองงานในสัญญาจ้างให้ชัดเจน โดยเฉพาะระยะเวลาทดลองงานที่มักกำหนดไว้ไม่เกิน 119 วัน (เพื่อหลีกเลี่ยงการจ่ายค่าชดเชยตาม พ.ร.บ.คุ้มครองแรงงาน) พร้อมทั้งต้องระบุเกณฑ์การประเมินผลงานที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม เพื่อความโปร่งใสในการพิจารณาและป้องกันข้อพิพาทในอนาคต

  • ระยะเวลาทดลองงาน
    ถึงแม้ว่ากฎหมายจะไม่ได้กำหนดระยะเวลาที่ตายตัว แต่โดยมาตรฐานทั่วไปมักอยู่ที่ 3-6 เดือน ทั้งนี้ หากจำเป็นต้องขยายระยะเวลา ทั้งนายจ้างและลูกจ้างควรตกลงด้วยลายลักษณ์อักษรร่วมกัน

  • การประเมินผลงาน
    เพื่อความเป็นธรรม นายจ้างควรประเมินผลการทดลองงานอย่างเป็นทางการอย่างน้อย 2 ครั้ง โดยต้องบันทึกผลเป็นลายลักษณ์อักษร มีหลักฐานการแจ้งผลและให้คำแนะนำแก่พนักงานอย่างชัดเจน เพื่อป้องกันการถูกฟ้องร้องเรื่องการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรมในภายหลัง

  • สิทธิตามกฎหมายแรงงาน
    เมื่อเริ่มทดลองงาน พนักงานจะมีสถานะเป็น "ลูกจ้าง" เช่นเดียวกับพนักงานประจำทันที จึงได้รับสิทธิและความคุ้มครองตามกฎหมายตั้งแต่วันแรกที่เข้าทำงาน ไม่ว่าจะเป็นสิทธิลาป่วย ลากิจ การคุ้มครองจากประกันสังคม รวมถึงสวัสดิการต่าง ๆ ตามที่บริษัทกำหนด

  • การบอกเลิกจ้าง
    หากต้องการเลิกจ้างในระหว่างทดลองงาน ต้องแจ้งให้พนักงานทราบล่วงหน้าตามที่ระบุในสัญญา หากไม่แจ้งล่วงหน้าต้องจ่ายค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า และต้องระบุเหตุผลการเลิกจ้างที่ชัดเจน เช่น ผลการประเมินไม่ผ่านเกณฑ์ หรือกระทำผิดร้ายแรง

  • การพิจารณาค่าชดเชย
    กรณีพนักงานทำงานไม่ครบ 120 วัน นายจ้างไม่จำเป็นต้องจ่ายค่าชดเชย อย่างไรก็ตาม หากเป็นการเลิกจ้างที่ไม่เป็นธรรม เช่น ไม่มีการประเมินผลงานที่ชัดเจน หรือเลิกจ้างโดยไม่มีเหตุผลอันสมควร พนักงานมีสิทธิฟ้องร้องเพื่อขอรับค่าชดเชยตามกฎหมายได้

พนักงานใหม่กำลังดีใจที่ผ่านช่วงระยะเวลาการทดลองงาน (Probation)

​ช่วงทดลองงานเป็นโอกาสที่ทั้งองค์กรและพนักงานจะได้ดูถึงความเหมาะสมซึ่งกันและกัน แต่ความท้าทายที่แท้จริงคือ การสรรหาคนที่ใช่ตั้งแต่แรก ที่ต้องอาศัยความเชี่ยวชาญในการคัดกรองคนให้ตรงกับธุรกิจ

ด้วยเหตุนี้ Manpower ในฐานะบริษัท Recruitment ระดับโลกที่ติดอันดับ Fortune 500 Companies จึงพร้อมเป็นพาร์ตเนอร์ที่คุณไว้วางใจได้ ด้วยทีมงานมืออาชีพที่เข้าใจความต้องการของตลาดแรงงานอย่างลึกซึ้ง และประสบการณ์กว่า 70 ปีในการสรรหาบุคลากร พร้อมเครือข่ายที่ครอบคลุมใน 75 ประเทศทั่วโลก บริษัทจัดหางานของเราพร้อมช่วยคุณค้นหาบุคลากรที่มีคุณภาพและตรงใจ หากกำลังมองหาพนักงานเก่ง ๆ หรือต้องการคนด่วน ติดต่อเราได้เลยวันนี้ !

ข้อมูลอ้างอิง

  1. ไม่ผ่านการทดลองงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชย หรือต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่ ?. สืบค้นเมื่อวันที่ 13 พฤศจิกายน 2567 จาก https://area3.labour.go.th/2015-12-03-04-55-08/1023-ไม่ผ่านการทดลองงานมีสิทธิได้รับค่าชดเชย-หรือต้องบอกกล่าวล่วงหน้าหรือไม่.