สรุปให้ Freelance, Outsource พนักงานประจำ ต่างกันอย่างไร ?
แม้ว่า Freelance, Outsource และพนักงานประจำจะเป็นรูปแบบการจ้างงานที่เรามักคุ้นเคย ซึ่งแต่ละแบบก็มีจุดเด่นและข้อจำกัดที่แตกต่างกันไป ด้วยเหตุนี้ การทำความเข้าใจการจ้างงานในแต่ละประเภทจึงมีความสำคัญอย่างมาก ยิ่งในฐานะเจ้าของบริษัทและพนักงานฝ่ายบุคคล จะช่วยให้เห็นถึงภาพรวม ที่สามารถนำไปวิเคราะห์ข้อดีข้อเสีย และเลือกวิธีการจ้างงานที่เหมาะสมกับเป้าหมายขององค์กรได้อย่างตรงจุด
เปรียบเทียบ Freelance, Outsource และพนักงานประจำคืออะไร ต่างกันอย่างไร ?
1. Freelance คืออะไร ?
Freelancer คือบุคคลที่เลือกทำงานอิสระ โดยไม่ได้ขึ้นตรงกับองค์กรใดองค์กรหนึ่งเป็นหลัก ซึ่งส่วนใหญ่มักจะทำงานในลักษณะของโครงการหรืองานชั่วคราวตามที่ได้รับมอบหมายจากลูกค้า
รูปแบบการทำงาน : โดยทั่วไปแล้ว Freelance จะสามารถทำงานให้ลูกค้าหลายรายในเวลาเดียวกันได้ อีกทั้งยังมีอิสระในการเลือกโปรเจกต์ที่ตนเองสนใจและต้องการทำ
ความยืดหยุ่น : เนื่องจากไม่มีสัญญาจ้างประจำ ผู้ทำงานสามารถกำหนดตารางเวลาของตนเอง รวมถึงเลือกสถานที่ทำงานได้อย่างอิสระ
รายได้และสวัสดิการ : รายได้ของ Freelancer จะขึ้นอยู่กับจำนวนงานที่รับและความสามารถในการหาลูกค้า อย่างไรก็ตาม ข้อจำกัดคือจะไม่ได้รับสวัสดิการจากนายจ้าง ไม่ว่าจะเป็นประกันสุขภาพหรือกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ
ความมั่นคง : แม้ว่า Freelance จะมีอิสระในการเลือกงาน แต่ความมั่นคงของรายได้อาจไม่แน่นอน เนื่องจากต้องขึ้นอยู่กับโอกาสในการหาลูกค้าและสภาวะการแข่งขันในตลาด
2. Outsource คืออะไร ?
Outsource หมายถึงการที่องค์กรเลือกจ้างบุคคลหรือบริษัทภายนอกเข้ามาดำเนินงานแทนพนักงานในองค์กร เช่น การจ้างบริษัทภายนอกมาดูแลระบบ IT หรือการใช้บริการเอเจนซีด้านการตลาด
รูปแบบการทำงาน : โดยทั่วไปแล้ว Outsource จะเป็นบุคคลหรือบริษัทที่รับงานภายใต้สัญญาจ้าง ซึ่งอาจเป็นระยะสั้นหรือระยะยาวตามข้อตกลง โดยจะทำงานให้กับองค์กรที่ว่าจ้างตามขอบเขตที่กำหนด
ความยืดหยุ่น : แม้ว่าจะมีข้อตกลงหรือสัญญาที่ต้องปฏิบัติตาม แต่ Outsource ยังคงมีความยืดหยุ่นมากกว่าพนักงานประจำ เพราะไม่ต้องอยู่ภายใต้กฎระเบียบขององค์กรในทุกด้าน
รายได้และสวัสดิการ : รายได้อาจเป็นแบบค่าจ้างตามโครงการหรือเงินเดือน ขึ้นอยู่กับข้อตกลงระหว่างองค์กรกับผู้ให้บริการ อย่างไรก็ตาม สวัสดิการมักจะน้อยกว่าพนักงานประจำ และในบางกรณี ผู้ว่าจ้างอาจไม่จำเป็นต้องรับผิดชอบในเรื่องสวัสดิการเลยด้วย
ความมั่นคง : การจ้างงานแบบ Outsource มีความมั่นคงมากกว่า Freelance เพราะมักมีสัญญาที่ชัดเจน แต่ก็ยังไม่เทียบเท่าพนักงานประจำ เนื่องจากองค์กรอาจเปลี่ยนผู้ให้บริการได้เมื่อหมดสัญญา
3. พนักงานประจำคืออะไร ?
พนักงานประจำ คือบุคคลที่ได้รับการจ้างงานโดยตรงจากองค์กร โดยมีสถานะเป็นลูกจ้างและได้รับสวัสดิการครบถ้วนตามที่กฎหมายแรงงานกำหนด
รูปแบบการทำงาน : พนักงานประจำต้องทำงานตามโครงสร้างองค์กร ซึ่งจะมีหน้าที่และความรับผิดชอบที่ชัดเจนตามแต่ละตำแหน่งที่ได้รับมอบหมาย
ความยืดหยุ่น : โดยทั่วไปแล้ว พนักงานประจำจะมีข้อจำกัดในเรื่องของเวลาและสถานที่ทำงาน อย่างไรก็ตาม ในปัจจุบันหลายองค์กรได้เริ่มนำนโยบายการทำงานแบบ Hybrid หรือ Remote มาใช้เพื่อเพิ่มความยืดหยุ่นให้แก่พนักงาน
รายได้และสวัสดิการ : นอกจากเงินเดือนที่แน่นอนแล้ว พนักงานประจำยังได้รับสวัสดิการต่าง ๆ เพิ่มเติม เช่น ประกันสังคม ประกันสุขภาพ โบนัส รวมถึงโอกาสในการเลื่อนตำแหน่งด้วย
ความมั่นคง : ด้วยสัญญาจ้างที่ต่อเนื่อง ทำให้พนักงานประจำมีความมั่นคงในอาชีพมากที่สุดเมื่อเทียบกับ Freelance และ Outsource อย่างไรก็ดี ยังคงมีความเสี่ยงอยู่บ้าง เช่น การปรับลดจำนวนพนักงาน หรือสภาวะทางเศรษฐกิจที่อาจส่งผลกระทบต่อการจ้างงาน
ตารางเปรียบเทียบระหว่าง Freelance, Outsource และพนักงานประจำ
หัวข้อ | Freelance | Outsource | พนักงานประจำ |
รูปแบบการทำงาน | ทำงานอิสระ เลือกโปรเจกต์เอง | รับงานตามสัญญาจ้างจากองค์กร | ทำงานประจำในองค์กร |
ความยืดหยุ่น | สูง เลือกเวลาและสถานที่เอง | ปานกลาง ยืดหยุ่นบางส่วน | ต่ำ (ขึ้นอยู่กับนโยบายองค์กร) |
รายได้ | ไม่แน่นอน ขึ้นอยู่กับจำนวนงาน | ขึ้นอยู่กับสัญญาจ้าง | เงินเดือนประจำ |
สวัสดิการ | ไม่มีสวัสดิการจากนายจ้าง | ขึ้นอยู่กับข้อตกลง | มีสวัสดิการ เช่น ประกันสุขภาพ ประกันสังคม |
ความมั่นคง | ต่ำ เนื่องจากรายได้ไม่แน่นอน | ปานกลาง ขึ้นอยู่กับสัญญา | สูง และมีโอกาสเลื่อนตำแหน่ง |
กลยุทธ์การเลือกรูปแบบการจ้างงาน
เพื่อให้คุณสามารถเลือกรูปแบบการจ้างงานที่เหมาะกับองค์กรที่สุด เรามี 6 กลยุทธ์การเลือกรูปแบบการจ้างงานมาแนะนำ ดังต่อไปนี้
1. วิเคราะห์ลักษณะงาน
ก่อนที่จะตัดสินใจเลือกรูปแบบการจ้างงาน ควรเริ่มต้นจากการวิเคราะห์ลักษณะของงานที่ต้องการอย่างละเอียด โดยหากเป็นงานที่ต้องการความเชี่ยวชาญเฉพาะด้านในระยะสั้น การจ้าง Freelance หรือ Outsource ก็อาจเป็นตัวเลือกที่เหมาะสมที่สุด ในทางกลับกัน หากเป็นงานที่ต้องการความต่อเนื่องและสอดคล้องกับเป้าหมายองค์กรในระยะยาว การจ้างพนักงานประจำก็อาจเป็นทางเลือกที่ดีกว่า
2. ดูงบประมาณและต้นทุน
เมื่อกำหนดลักษณะงานได้แล้ว สิ่งสำคัญในลำดับถัดมาคือการพิจารณาถึงงบประมาณและต้นทุน ซึ่งการจ้าง Freelance หรือ Outsource มักจะช่วยลดต้นทุนด้านสวัสดิการและค่าจ้างในระยะยาวได้ แต่หากองค์กรต้องการที่จะสร้างทีมงานที่มีความมั่นคงและเติบโตไปด้วยกัน การลงทุนกับพนักงานประจำก็อาจให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่ามากกว่า
3. มองผลกระทบต่อองค์กร
นอกจากเรื่องของงบประมาณแล้ว ยังจำเป็นต้องคำนึงถึงผลกระทบต่อองค์กรในระยะยาวด้วย ทั้งนี้ การใช้ Freelance และ Outsource อาจช่วยเพิ่มความยืดหยุ่นและการเข้าถึงผู้เชี่ยวชาญจากภายนอก แต่ก็อาจส่งผลกระทบต่อวัฒนธรรมองค์กรและความต่อเนื่องของงาน ในขณะที่พนักงานประจำ สามารถช่วยสร้างความเป็นทีมและเสริมสร้างวัฒนธรรมองค์กรได้ดีกว่า
4. วางระบบบริหารจัดการ
เมื่อตัดสินใจเลือกใช้การจ้างงานรูปแบบใดรูปแบบหนึ่งแล้ว ทางบริษัทเองก็จำเป็นต้องมีระบบบริหารจัดการที่เหมาะสมรองรับ โดยหากเลือกใช้ Freelance หรือ Outsource องค์กรจะต้องมีโครงสร้างการสื่อสารที่ชัดเจน พร้อมทั้งมีแพลตฟอร์มสำหรับติดตามผลลัพธ์การทำงาน ในขณะที่หากเลือกจ้างในลักษณะพนักงานประจำ ก็ควรมีระบบการบริหารทรัพยากรบุคคลเพื่อช่วยให้พนักงานสามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด
5. ตั้งเกณฑ์วัดผล
เพื่อให้มั่นใจว่าการจ้างงานแต่ละรูปแบบให้ผลลัพธ์ที่คุ้มค่า องค์กรควรกำหนด Key Performance Indicators (KPIs) ที่ชัดเจนและเหมาะสม ไม่ว่าจะเป็นในแง่ของคุณภาพงาน ประสิทธิภาพในการทำงาน หรือความพึงพอใจของพนักงาน โดยจำเป็นต้องปรับเกณฑ์ให้เหมาะสมกับแต่ละประเภทของพนักงาน เช่น Freelance อาจวัดจากความตรงต่อเวลาและคุณภาพของโปรเจกต์ ในขณะที่พนักงานประจำอาจพิจารณาจากความก้าวหน้าและการมีส่วนร่วมในองค์กร
6. เตรียมแผนสำรอง
ท้ายที่สุดแล้ว องค์กรควรเตรียมแผนสำรองเพื่อรับมือกับปัญหาหรือความไม่แน่นอนที่อาจเกิดขึ้น กล่าวคือ หากใช้ Freelance หรือ Outsource ก็ควรมีเครือข่ายของผู้ให้บริการหลายรายเพื่อรองรับงานในกรณีฉุกเฉิน ส่วนในการบริหารพนักงานประจำ ก็ควรมีแผนพัฒนาทักษะและโครงสร้างการบริหารความเสี่ยงที่ชัดเจน เพื่อให้สามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
Manpower ในฐานะบริษัท Recruitment ระดับโลกที่มีประสบการณ์การให้บริการครอบคลุมถึง 75 ประเทศทั่วโลก พร้อมด้วย 8 สำนักงานในประเทศไทย เราพร้อมให้บริการจัดหาบุคลากรแบบครบวงจร ทั้ง Freelance, พนักงาน Outsource และพนักงานประจำ รวมถึงให้คำปรึกษาและวิเคราะห์รูปแบบการจ้างงานที่เหมาะสม เพื่อให้คุณได้บุคลากรที่มีคุณภาพและตรงตามเป้าหมายองค์กรอย่างแท้จริง สนใจรับคำปรึกษาหรือต้องการข้อมูลเพิ่มเติม ติดต่อเราได้เลยวันนี้
ข้อมูลอ้างอิง
Outsourcing vs. Hiring a Freelancer—benefits and drawbacks. สืบค้นเมื่อวันที่ 30 มกราคม 2568 จาก https://www.linkedin.com/pulse/outsourcing-vs-hiring-freelancerbenefits-drawbacks-isourceout