กฎหมายแรงงาน 2568 สิทธิ ค่าจ้าง วันหยุด สวัสดิการที่ควรรู้
ปี 2568 ได้มีการปรับปรุงและเพิ่มเติมกฎหมายแรงงานหลายฉบับเพื่อให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบัน ทั้งการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ การคุ้มครองแรงงาน และมาตรฐานการใช้แรงงาน รวมถึงสิทธิการลาประเภทต่าง ๆ ด้วยเหตุนี้ เราจึงได้รวบรวมสาระสำคัญของกฎหมายแรงงานฉบับล่าสุดมาไว้ที่นี่ เพื่อให้พนักงานทุกคนได้รู้ถึงสิทธิของตนเอง พร้อมกับช่วยให้ไม่ถูกเอาเปรียบในสถานที่ทำงานได้
ค่าจ้างและสิทธิประโยชน์ขั้นพื้นฐานตามกฎหมายแรงงาน 2568
มาดูกันว่า ค่าจ้างและสวัสดิการพื้นฐานที่พนักงานควรรู้ตามกฎหมายแรงงาน มีอะไรบ้าง
อัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี 2568
ราชกิจจานุเบกษาได้เผยแพร่ประกาศของคณะกรรมการค่าจ้าง เรื่อง อัตราค่าจ้างขั้นต่ำ (ฉบับที่ 13) โดยได้มีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำที่แบ่งตามพื้นที่ โดยมีผลบังคับใช้มาตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม พ.ศ. 2568 ซึ่งมีรายละเอียดดังต่อไปนี้
400 บาทต่อวัน : ใน 4 จังหวัด และ 1 อำเภอ ได้แก่ จังหวัดภูเก็ต ฉะเชิงเทรา ชลบุรี ระยอง และอำเภอเกาะสมุย จังหวัดสุราษฎร์ธานี
380 บาทต่อวัน: อำเภอเมืองเชียงใหม่ จังหวัดเชียงใหม่ และอำเภอหาดใหญ่ จังหวัดสงขลา
372 บาทต่อวัน : กรุงเทพมหานคร นครปฐม นนทบุรี ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
359 บาทต่อวัน : จังหวัดนครราชสีมา
358 บาทต่อวัน: จังหวัดสมุทรสงคราม
357 บาทต่อวัน: จังหวัดขอนแก่น เชียงใหม่ (ยกเว้นอำเภอเมืองเชียงใหม่) ปราจีนบุรีพระนครศรีอยุธยา และสระบุรี
356 บาทต่อวัน: จังหวัดลพบุรี
355 บาทต่อวัน : จังหวัดนครนายก สุพรรณบุรี และหนองคาย
354 บาทต่อวัน: จังหวัดกระบี่ และตราด
352 บาทต่อวัน: จังหวัดกาญจนบุรี จันทบุรี เชียงราย ตาก นครพนม บุรีรัมย์ ประจวบคีรีขันธ์ พังงา พิษณุโลก มุกดาหาร สกลนคร สงขลา (ยกเว้นอำเภอหาดใหญ่) สระแก้ว สุราษฎร์ธานี (ยกเว้นอำเภอเกาะสมุย) และอุบลราชธานี
351 บาทต่อวัน: จังหวัดชุมพร เพชรบุรี และสุรินทร์
350 บาทต่อวัน: จังหวัดนครสวรรค์ ยโสธร และลำพูน
349 บาทต่อวัน: จังหวัดกาฬสินธุ์ นครศรีธรรมราช บึงกาฬ เพชรบูรณ์ และร้อยเอ็ด
348 บาทต่อวัน: จังหวัดชัยนาท ชัยภูมิ พัทลุง สิงห์บุรี และอ่างทอง
347 บาทต่อวัน: จังหวัดกำแพงเพชร พิจิตร มหาสารคาม แม่ฮ่องสอน ระนอง ราชบุรี ลำปาง เลยศรีสะเกษ สตูล สุโขทัย หนองบัวลำภู อำนาจเจริญ อุดรธานี อุตรดิตถ์ และอุทัยธานี
345 บาทต่อวัน: จังหวัดตรัง น่าน พะเยา และแพร่
337 บาทต่อวัน: จังหวัดนราธิวาส ปัตตานี และยะลา
สวัสดิการและสิทธิประโยชน์ที่ลูกจ้างพึงได้รับ
นอกจากค่าจ้างขั้นต่ำแล้ว กฎหมายแรงงานยังกำหนดให้นายจ้างต้องจัดสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ต่าง ๆ ให้แก่ลูกจ้าง เช่น
ค่าล่วงเวลา : ต้องจ่ายในอัตราไม่น้อยกว่า 1.5 เท่าของค่าจ้างปกติ สำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันทำงานปกติ และไม่น้อยกว่า 3 เท่าของค่าจ้างปกติ สำหรับการทำงานล่วงเวลาในวันหยุด
วันหยุดตามประเพณี: ตามกฎหมายแรงงาน ลูกจ้างมีสิทธิได้รับวันหยุดตามประเพณีไม่น้อยกว่า 13 วันต่อปี โดยได้รับค่าจ้าง
วันหยุดพักผ่อนประจำปี : ลูกจ้างซึ่งทำงานติดต่อกันมาครบ 1 ปี มีสิทธิหยุดพักผ่อนประจำปีไม่น้อยกว่า 6 วันทำงาน โดยได้รับค่าจ้าง
กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ : เป็นสวัสดิการที่นายจ้างอาจจัดให้โดยความสมัครใจ โดยนายจ้างและลูกจ้างจะจ่ายเงินสมทบในอัตราที่ตกลงกัน
ในปี 2568 มีการเพิ่มสิทธิประโยชน์ด้านการรักษาพยาบาลภายใต้ระบบประกันสังคม โดยได้เพิ่มวงเงินค่ารักษาพยาบาลในหลายกรณี และเพิ่มรายการยาในบัญชียาหลักให้ครอบคลุมมากขึ้น
เวลาทํางานตามกฎหมายแรงงาน
ตามกฎหมายแรงงานในเรื่องเวลาทํางาน มีกฎเกณฑ์ที่สำคัญดังนี้
ระยะเวลาทำงานปกติต้องไม่เกิน 8 ชั่วโมงต่อวัน หรือตามที่นายจ้างและลูกจ้างตกลงกัน แต่ต้องไม่เกิน 48 ชั่วโมงต่อสัปดาห์
นายจ้างและลูกจ้างอาจตกลงกันล่วงหน้าให้มีเวลาพักน้อยกว่าครั้งละ 1 ชั่วโมงได้ แต่ต้องไม่น้อยกว่าครั้งละ 20 นาที และเมื่อรวมแล้วต้องไม่น้อยกว่าวันละ 1 ชั่วโมง
การคุ้มครองการจ้างงานและการเลิกจ้าง
สัญญาจ้างและข้อตกลงในการทำงาน
ข้อจำกัดในการทำสัญญาจ้างชั่วคราว : กำหนดให้การจ้างงานชั่วคราวต้องมีกำหนดระยะเวลาสิ้นสุดที่แน่นอน และต้องเป็นงานที่มีลักษณะชั่วคราวอย่างแท้จริง
การเลิกจ้างและค่าชดเชย
กรณีที่มีการเลิกจ้าง กฎหมายแรงงานได้กำหนดเงื่อนไขและอัตราค่าชดเชยไว้ดังนี้
ค่าชดเชยกรณีเลิกจ้าง
ลูกจ้างที่ทำงานครบ 120 วัน แต่ไม่ครบ 1 ปี : ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 30 วัน
ลูกจ้างที่ทำงานครบ 1 ปี แต่ไม่ครบ 3 ปี : ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 90 วัน
ลูกจ้างที่ทำงานครบ 3 ปี แต่ไม่ครบ 6 ปี : ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 180 วัน
ลูกจ้างที่ทำงานครบ 6 ปี แต่ไม่ครบ 10 ปี : ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 240 วัน
ลูกจ้างที่ทำงานครบ 10 ปี แต่ไม่ครบ 20 ปี : ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 300 วัน
ลูกจ้างที่ทำงานครบ 20 ปีขึ้นไป : ค่าชดเชยเท่ากับค่าจ้าง 400 วัน
การบอกเลิกจ้าง: นายจ้างต้องแจ้งการเลิกจ้างให้ลูกจ้างทราบล่วงหน้าอย่างน้อย 1 รอบการจ่ายค่าจ้าง หากไม่แจ้งล่วงหน้า ต้องจ่ายค่าชดเชยแทนการบอกกล่าวล่วงหน้า
ข้อยกเว้นในการจ่ายค่าชดเชย : นายจ้างไม่ต้องจ่ายค่าชดเชยในกรณีเลิกจ้าง หากลูกจ้างกระทำความผิดร้ายแรง เช่น ทุจริตต่อหน้าที่ จงใจทำให้นายจ้างเสียหาย หรือประมาทเลินเล่อเป็นเหตุให้นายจ้างได้รับความเสียหายอย่างร้ายแรง
สิทธิในการลาประเภทต่าง ๆ
การลาป่วย
ลูกจ้างมีสิทธิลาป่วยได้เท่าที่ป่วยจริง โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 30 วันทำงานต่อปี นายจ้างสามารถขอใบรับรองแพทย์ได้ในกรณีที่ลูกจ้างลาป่วยตั้งแต่ 3 วันขึ้นไป
การลาคลอด
ลูกจ้างหญิงมีสิทธิลาคลอดได้ 98 วัน โดยได้รับค่าจ้างไม่เกิน 45 วัน ส่วนที่เหลือจะได้รับเงินสงเคราะห์จากประกันสังคมในอัตราร้อยละ 50 ของค่าจ้าง
การลากิจ
ลูกจ้างมีสิทธิลากิจเพื่อกิจธุระอันจำเป็นตามข้อบังคับการทำงานที่นายจ้างกำหนด โดยทั่วไปอยู่ที่ประมาณ 5-10 วันต่อปี ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับนโยบายของแต่ละองค์กร
การลาไปทำหมัน
ลูกจ้างสามารถลาหยุดเพื่อไปทำหมันได้ตามระยะเวลาที่แพทย์แผนปัจจุบันชั้นหนึ่งกำหนด และออกใบรับรองแพทย์ โดยลูกจ้างยังมีสิทธิได้รับค่าจ้างในวันลานั้น
การลาไปรับราชการทหาร
ลูกจ้างสามารถลาเพื่อไปรับราชการทหารได้ โดยจะได้รับค่าจ้างตลอดเวลาที่ลา สูงสุดไม่เกิน 60 วันต่อปี
การใช้แรงงาน
ตามกฎหมายคุ้มครองแรงงานเรื่องการใช้แรงงาน มีหลักเกณฑ์ดังต่อไปนี้
การใช้แรงงานหญิง
ห้ามลูกจ้างหญิงที่มีครรภ์ทำงานในช่วงเวลา 22:00 - 06:00 น. รวมถึงการทำงานล่วงเวลา หรือทำงานในวันหยุด
ห้ามแรงงานหญิงทำงานในที่เสี่ยงอันตราย เช่น งานในเหมืองแร่ งานก่อสร้างที่ต้องทำใต้ดิน ใต้น้ำ ในถ้ำ ในอุโมงค์ ในปล่องภูเขา หรืองานที่ต้องทำบนนั่งร้านสูงกว่าพื้น 10 เมตรขึ้นไป รวมถึงงานขนส่งวัตถุระเบิด วัตถุไวไฟ
การใช้แรงงานเด็ก
ห้ามจ้างเด็กอายุที่ต่ำกว่า 15 ปี มาเป็นลูกจ้าง
ลูกจ้างเด็กมีสิทธิฝึกอบรม โดยจะได้รับค่าจ้าง 30 วัน
กรณีจ้างเด็กอายุต่ำกว่า 18 ปี มาเป็นลูกจ้าง นายจ้างต้องแจ้งต่อพนักงานตรวจแรงงาน
ห้ามไม่ให้นายจ้างใช้ลูกจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานในช่วงเวลา 22:00 - 06:00 น.
ห้ามไม่ให้นายจ้างใช้ลูกจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานล่วงเวลา
ห้ามไม่ให้นายจ้างให้ลูกจ้างเด็กที่มีอายุต่ำกว่า 18 ปี ทำงานที่เสี่ยงอันตราย
หากคุณเป็นพนักงานที่กำลังค้นหาโอกาสใหม่ในการทำงาน และอยากได้งานที่มั่นคงในองค์กรที่ปฏิบัติตามกฎหมายและเคารพสิทธิพนักงาน แนะนำให้มาฝากประวัติกับ Manpower เว็บสมัครงาน ที่จัดหาคนและหางานระดับโลก ที่พร้อมเป็นสะพานเชื่อมระหว่างคุณกับบริษัทชั้นนำที่ให้ความสำคัญกับสวัสดิการและสิทธิประโยชน์ตามกฎหมายแรงงาน ด้วยประสบการณ์อันยาวนานกว่า 70 ปี พร้อมเครือข่ายที่ครอบคลุมกว่า 75 ประเทศทั่วโลก และ 8 สำนักงานในประเทศไทย เรามั่นใจว่าจะช่วยให้คุณค้นหางานที่ตอบโจทย์ความต้องการและช่วยเติมเต็มศักยภาพของคุณได้อย่างแท้จริง หากสนใจ สามารถมาฝากประวัติไว้กับเราได้เลยวันนี้
ข้อมูลอ้างอิง
สิทธิตามกฎหมายแรงงาน. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 จาก https://www.mol.go.th/employee/สิทธิตามกฎหมายแรงงาน.
มีผล 1 ม.ค.2568 ราชกิจจาฯ ประกาศค่าจ้างขั้นต่ำ 337-400 บาท. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 จาก https://www.thaipbs.or.th/news/content/347764.
เปิดอัตราค่าแรงขั้นต่ำ ปี 2568 ครบทั้ง 77 จังหวัด มีผลบังคับใช้ 1 ม.ค. 2568. สืบค้นเมื่อวันที่ 9 เมษายน 2568 จาก https://thestandard.co/minimum-wage-rates-thailand-2568/.