ประมาณ 1 ปี ที่ผ่านมา -

มาตรา 35 ทางเลือกใหม่ เพิ่มศักยภาพการจ้างงานผู้พิการ

Repost On Blog (900 X 500 Px) (7)

​ประเทศที่เจริญแล้วมีหลักการสากลว่า "คนพิการต้องมีโอกาสได้ทำงานช่วยเหลือตัวเองเหมือนคนทั่วไป" เช่นเดียวกับคนพิการในประเทศไทยที่มีกว่า 2 ล้านคน กฎหมายกำหนดให้บริษัทห้างร้านต้องช่วยกันจ้างงานเพื่อให้พวกเขาได้ใช้ศักยภาพของตัวเอง และสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้ ไม่เป็นภาระของครอบครัว

ตั้งแต่ปี 2550 "พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ" กำหนดให้สถานประกอบการที่มีพนักงานจำนวน 100 คน จ้างคนพิการ 1 คน หรือคิดเป็นอัตราส่วน 100:1 หากบริษัทมีพนักงาน 200 คน ก็จ้าง 2 คน มี 500 คน จ้าง 5 คน โดยมีข้อแลกเปลี่ยนจูงใจในการลดภาษีให้นายจ้าง แต่ถ้าไม่อยากจ้างก็ต้องส่งเงินเข้ากองทุนส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการเป็นรายปีประมาณ 1.1 แสนบาทต่อคน

ดูเหมือนเงื่อนไขนี้ทำให้เจ้าของบริษัทยอมรับได้และพยายามจ้างคนพิการมาทำงานบางอย่างในบริษัท เช่น ดูแลความสะอาด รับโทรศัพท์ ทำบัญชี ตรวจสินค้า ฯลฯ แล้วแต่สภาพของลักษณะงาน

แต่ที่ผ่านมาพบว่า บริษัทส่วนใหญ่เลือกส่งเงินให้กองทุนมากกว่า ทั้งนี้อาจเกิดจากหลายสาเหตุไม่ว่าจะเป็นจากฝ่ายนายจ้าง ไม่รู้ว่าจะไปหาคนพิการที่เหมาะสมกับตำแหน่งงานขององค์กรได้ที่ไหน หรือไม่สามารถจัดสภาพแวดล้อมในการทำงานที่เหมาะสมให้ได้ เช่น ไม่มีทางลาดสำหรับรถเข็น ไม่มีอักษรเบรลล์ หรือไม่มีล่ามภาษามือ

จากฝั่งคนพิการ ที่อยากไปทำงานแต่ระบบขนส่งไม่เอื้ออำนวย ไม่สามารถเดินทางจากบ้านได้ตามลำพัง หรือไปได้แต่ต้องจ่ายค่าแท็กซี่หรือจ้างคนพาไป ซึ่งเป็นรายจ่ายที่มากกว่าเงินเดือนที่ได้รับ

ปัจจัยเหล่านี้ทำให้ตัวเลขจ้างงานคนพิการในประเทศยังมีอยู่น้อยมาก ทั้งนี้บางองค์กรอาจไม่ทราบกฎหมายที่แก้ไขใหม่หรือ พ.ร.บ.ส่งเสริมและพัฒนาคุณภาพชีวิตคนพิการ แก้ไขเพิ่มเติม (ฉบับที่ 2) พ.ศ.2556 ที่กำหนดให้มีการจ้างงานคนพิการได้ 2 รูปแบบ แบบ ม.33 และแบบ ม.35

การจ้างงานเชิงสังคม ม.33" หมายถึง นายจ้างเปิดรับสมัครคนพิการมาทำงานตามโควตาที่มีแต่ไม่ต้องให้เดินทางมาทำงานในสถานประกอบการของตนแต่ให้ไปทำงานในองค์กรสาธารณประโยชน์แทน เช่น วัด โรงเรียน โรงพยาบาล ฯลฯ โดยคนพิการได้รับสิทธิประโยชน์ เงินเดือน สวัสดิการ โบนัส ทุกอย่างเหมือนพนักงานทั่วไปของบริษัท ส่วนนายจ้างก็ได้สิทธิ ลดภาษีเพิ่มเป็น 2 เท่าแทน

เคล็ดลับนี้สำคัญมากเพราะแทนที่บริษัทตัดปัญหาต่าง ๆ ที่เกิดขึ้น ด้วยการเลือกวิธีจ่ายเงินเข้ากองทุน แต่เปลี่ยนวิธีการเอาเงินจำนวนเท่ากัน เหมาจ่ายให้คนพิการไปทำงานเพื่อชุมชนหรืองานที่เป็นประโยชน์ต่อสังคม ผลที่ได้คือการช่วยเพิ่มศักยภาพให้คนพิการได้ทำประโยชน์ในชุมชนที่อยู่อาศัยแทนที่จะโอนเงินเข้ากองทุน

ถือว่ายิงปืนนัดเดียวได้นก 2 ตัว เพราะสังคมได้ประโยชน์ คนพิการก็ได้ทำงานที่มีประโยชน์ต่อคนอื่น เกิดความภาคภูมิใจในศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของตัวเอง